
ย่านเก่าท็อปฮิตติดชาร์ตของฝั่งธนบุรีคงหนีไม่พ้น ตลาดพลู ชุมชนรุ่นคุณทวดคุณเทียด ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ ทั้งของคาวของหวานชนิดที่ว่ากินกันให้เทรนเนอร์มองบน…แต่เดี๋ยวก่อนตลาดพลูไม่ได้มีแค่ของกิน ย่านเก่าแห่งนี้คือ Location ประวัติศาสตร์ Gossip ที่รู้แล้ว ฉันร้องกรี๊ดเลย…
ไปอย่างไรไม่ให้เหงื่อไหล?

ใครที่ตั้งใจมาตลาดพลูโดย BTS อาจรู้สึก “คุณหลอกดาว!” เพราะตัวตลาดอยู่ห่างออกไปพอสมควร ย่านเก่าตลาดพลูอยู่บนถนนเทอดไท ขนานไปกับทางรถไฟมหาชัย-วงเวียนใหญ่ ซึ่งเดินไปก็ใช้เวลาราว 15 นาที

ของกินตลาดพลูว่าเด็ดแล้ว แต่เรื่องราวย่านตลาดพลูนั้นอาจจะเผ็ชกว่า บนถนนเทอดไทซึ่งตัดผ่านย่านตลาดพลูนี้ เป็นที่ตั้งของวัดโบราณอย่างน้อย ถึง 3 แห่ง คนสมัยก่อนเรียกชื่อตาม Location กันว่า วัดบางยี่เรือเหนือ หรือวัดราชคฤห์ วัดบางยี่เรือกลาง หรือวัดจันทาราม และวัดบางยี่เรือใต้ หรือวัดอินทาราม แน่นอนว่าสตอรี่ที่เกิดขึ้นย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี

อำนาจและความขัดแย้ง
วัดอินทาราม วัดดาวเด่นที่เจิดจรัสที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี ถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ให้ยิ่งใหญ่โดยพระเจ้าตากสิน ความสำคัญนั้นอยู่ในระดับที่พระองค์ใช้เป็นสถานที่ออกงานพระเมรุพระราชมารดาซึ่งนับเป็นงานใหญ่โตที่สุดในสมัยนั้น ที่สำคัญพระองค์ยังเสด็จมากรรมฐานหรือนั่งสมาธิที่วัดนี้จนมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญเก็บรักษาอยู่จนถึงทุกวันนี้

แต่แล้วเหตุการณ์ความชุลมุนที่เกิดขึ้นปลายรัชกาลจนบานปลาย ทำให้วัดแห่งนี้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังพระองค์ถูกสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียรที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ได้มีการเชิญพระบรมศพพระเจ้าตากสินมาฝังยังวัดแห่งนี้ ขณะที่บรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นก็ยังมาคุต่อเนื่องไปอีกเกือบ 2 ปี จึงมีการขุดพระองค์ท่านขึ้นมาเพื่อถวายพระเพลิง
ในบันทึกประวัติศาสตร์บางฉบับที่โดนเซนเซอร์ไปแล้วเล่าว่าเมื่อรัชกาลที่ 1 และวังหน้าซึ่งก็คือน้องชายของท่านเสด็จมาวัดอินทารามเพื่อพระราชทานเพลิง พวกเจ้าจอมข้างในทั้งวังหลวงวังหน้าที่เคยรับราชการในสมัยกรุงธนบุรีต่างพากันร้องไห้อาลัยอาวรณ์เจ้าแผ่นดินองค์ก่อน และนั่นก็ทำให้ทั้ง 2 พระองค์กริ้ว… เหตุการณ์จากนั้นคงเดาไม่ยาก ในบันทึกประวัติศาสตร์ยังเล่าต่อไปว่า พระองค์มีรับสั่งให้ลงพระราชอาญาด้วยการโบยหลังพวกข้างในเหล่านั้นทั้งหมด เรียกได้ว่างานเข้ากันยกทีมเลยทีเดียว

มาถึงตรงนี้ก็คงสงสัยว่าจุดที่ฝังพระบรมศพก่อนขุดพระองค์ท่านขึ้นมาอยู่ที่ใด? อันนี้กำกวมไม่มีใครกล้าฟันธง แต่จุดที่มีการพระราชทานเพลิงนั้นต่างเชื่อกันว่าคือตำแหน่งที่พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งมาสร้างภายหลังในรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เลอค่า และเป็นไฮไลท์ของวัดอินทารามอยู่ที่พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือพระแท่นของพระองค์ที่ทั้งทรงใช้นั่งกรรมฐานในสภาพสมบูรณ์ไว้ เป็นของจริงไม่จกตาถูกเก็บรักษาไว้กว่าสองร้อยกว่าปี

และที่อยู่ถัดไปจากพระวิหาร คือพระอุโบสถหลังเดิม ที่ด้านหน้ามีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์และพระมเหสีไว้

ภูเขาจำลอง และที่สถิตย์ดวงวิญญาณนักรบ
ขยับเข้ามาฝั่งตลาดพลูอีกนิด คนต่างถิ่นอาจครุ่นคริส ว่าอาคารทรงปราสาทนี้คืออะไร จะเรียกว่ามณฑปก็กระดากปาก เพราะรูปทรงเป็นปราสาทจตุรมุขถูกสร้างไว้บนภูเขาสไตล์จีน ที่นี่เป็นวัดรุ่นเก๋าที่เอาภูเขามาไว้ในวัด อันมีนามว่า “วัดราชคฤห์”

ภูเขาสไตล์จีนที่มีต้นไม้งอกขึ้นมานี้ มีชื่อเรียกเกร๋ๆว่าเขามอ ก่อด้วยหินจากทะเลจำลองทัศนียภาพแบบจีน เป็นกระแสฮอตฮิตในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งในพระบรมมหาราชวัง และวัดต้นกรุง ทั้งวัดประยุรวงศ์ วัดอรุณ มาถึงตรงนี้คงสงสัยทำไมถึงเรียกเขามอ “มอ” นี่เป็นคำเขมรแผลงมาจากคำว่า ถมอ ซึ่งแปลว่าหิน ดังนั้นเขามอ จึงแปลว่าเขาหินนั่นเอง

แม้บรรยากาศด้านล่างเขาจะดูวังเวงรายล้อมไปด้วยอัฐิผู้วายชนม์ แต่ด้านบนมีพระพุทธบาทจำลองให้ขึ้นไปสักการะให้อุ่นใจ

ผลงานการยกภูเขามาไว้ในวัดนี้ เป็นฝึมือของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ชื่อนี้อาจเป็นที่คุ้นหูในแบบเรียนภาษาไทยสำหรับคนอายุ 30 ขึ้น เพราะท่านเป็นผู้เขียนวรรณกรรมที่มีตัวละครเยอะจนมึน อย่าง สามก๊ก ราชาธิราช อิเหนาคำฉันท์ ฯ

วัดแห่งนี้ยังมีเรื่องราว Unseen ของบุคคลระดับตำนาน ที่ถูกเก็บรักษาไว้ 230 กว่าปี พระปรางค์สีขาวที่อยู่เคียงข้างเจดีย์ใหญ่ ตรงใจกลางลานจอดรถ คือที่บรรจุอัฐิพระยาพิชัยดาบหัก ขุนนางที่ออกรบเคียงข้างพระเจ้าตากสินมาโดยตลอด ท่านถูกประหารชีวิตลง หลังปฏิเสธการเข้ารับราชการในแผ่นดินใหม่ อัฐิของท่านถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งนี้ จนเดือนกรกฎาคม ปี 2562 จังหวัดอุตรดิตถ์ได้เชิญอัฐิของท่านจากวัด กลับบ้านเกิดที่เมืองพิชัย อุตรดิตถ์
ย่านเก่าตลาดพลูไม่ได้มีเพียงต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างอาหารสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ แต่กลับมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชั้นยอดได้โดยไม่ยาก ผ่านประวัติศาสตร์ สถานที่ ชุมชน ที่รอเพียงความร่วมมือ และการเห็นความสำคัญจากองคาพยพในสังคม