
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2498 หรือเมื่อ 66 ปีที่แล้ว เป็นวันที่นายเฉลียว ปทุมรส, นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน ถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อเวลาตี 5 ณ เรือนจำกลางบางขวาง หลังจากถูกจับกุมในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ด้วยข้อหาลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ในสมัยหลังการรัฐประหารของทหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีนาย ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ในหลวงรัชกาลที่ ๘ หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 และเสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสวนคดีที่ยุ่งยากและกินเวลาเนิ่นนานหลายปีถัดมา
ทั้งเป็นช่องโอกาสให้คนบางกลุ่มนำเรื่องนี้มาใช้เป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน หนึ่งในผู้ผลักดันประชาธิปไตยไทย และเป็นรัฐบุรุษอาวุโสในสมัยนั้น ถูกใส่ความว่าเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ ร.๘ ทั้งที่ทำงานรับใช้และเป็นที่ไว้วางใจของร.๘ เองมาตลอดยุคสมัย

แต่ต่อมาเมื่อการพิสูจน์ทางการแพทย์ และการพิสูจน์หลักฐานต่าง ๆ ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วยมีผลวิเคราะห์จากแพทย์ต่างกัน ทั้งเป็นการลอบปลงพระชนม์ การทำอัตวินิบาตกรรม หรือเป็นอุบัติเหตุ แต่สุดท้ายหวยก็ไปออกที่นายชิต บุศย์ และเฉลียว ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตเนื่องจากการตัดสินคดีที่ยืดเยื้อยาวนานนี้มาได้คำตอบเอาตอนที่ประจวบเหมาะกับการรัฐประหารของทหารจอมพล ป. ซึ่งมีการแต่งตั้งให้ พล.ต.ต. พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต) (พี่เขยของหม่อมราชวงศ์เสนีย์และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์) ซึ่งเคยออกจากราชการไปแล้วกลับมาทำหน้าที่สืบสวนและดูแลคดีใหญ่นี้ต่อ
โดยนายชิต และนายบุศย์ เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยที่นั่งเฝ้าพระองค์อยู่หน้าห้องแต่งพระองค์ในเวลาที่ถูกปลงพระชนม์ทั้งคู่ ส่วนนายเฉลียวเป็นนั้นศาลไม่อาจแจ้งคำตัดสินถึงสาเหตุโทษที่ชัดเจนได้ นอกจากเป็นผู้ที่สนิทสนม เกี่ยวข้อง และทำงานร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์

คำตัดสินสุดท้ายนี้ยังคงเป็นปริศนา สร้างความคลางแคลงใจให้กับผู้ที่ได้ศึกษารับรู้ตลอดมาไม่ว่าจะเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน ทั้งประกอบกับความขมขื่นใจที่ไม่อาจแสวงหาความจริงได้โดยที่นำข้อสงสัยต่าง ๆ มาชำแหละได้อย่างโปร่งใส เพราะมิอาจพูดถึงข้อพิรุธ แรงจูงใจ และความเป็นไปได้อื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ และเสียงต่อกฎหมายที่ปิดปากคนไทยมาตลอดยุคสมัย
ฉะนั้น ความเชื่อและข้อสงสัยที่ว่า ทั้งนายชิต บุศย์ และเฉลียว เป็นเพียง “แพะรับบาป” จึงยังคงอยู่ เพียงเพราะทั้งชิต และบุศย์ เป็นผู้ที่มีโอกาสเห็นเหตุการณ์ความจริงในเช้าวันนั้นมากที่สุด และยังมีข่าวลือว่าเฉลียว ปทุมรส ได้ขอเข้าพบ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เพื่อบอกชื่อ “ฆาตกรตัวจริง” ก่อนที่เขาจะถูกประหารชีวิต
อ้างอิงข้อมูล