
จากกระแส #ข่มขืนผ่านจอพอกันที #แบนเมียจำเป็น ทำให้เห็นว่าแม้ว่าเราจะมาถึงปีพ.ศ.2564 กันแล้ว แต่เรายังคงเห็นฉาก “ข่มขืน” ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ อยู่ใน “ละครรัก” บนโทรทัศน์ไทยได้อย่างเป็นเรื่องปกติ โดยไม่ใช่ในเชิงความเป็นละครสะท้อนสังคมอะไรด้วย แต่เป็นแค่ความบันเทิง ความสะใจในการได้ลงโทษนางร้ายใจร่านด้วยการข่มขืน และไม่ได้เป็นการจรรโลงใจหรือจรรโลงสังคมในทางใดได้เลย นอกจากบ่มเพาะค่านิยม ทัศนคติ และวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศนี้ให้เป็นเรื่องปกติ และเรื่องบันเทิง
นอกจาก “วัฒนธรรมข่มขืน” แล้ว ยังมีค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติอันเป็นพิษอื่น ๆ ที่โทรทัศน์ไทยวางยาสังคมไว้อีกมากมาย มีอะไรบ้างมาดูกัน
- กักขังหน่วงเหนี่ยว = โอกาสบ่มเพาะความรัก ?
- ข่มขืนไปก่อน เดี๋ยวก็รักกันเอง
- ผู้หญิงขัดขืน แปลว่าผู้หญิงชอบ
- ต้องลงโทษหญิงร่านด้วยการข่มขืน
- Victim Blaming เหยื่อข่มขืน
- ผู้หญิงถูกข่มขืน คือ “ผู้หญิงมีมลทิน”
- Slut Shaming ตัวร้ายคือสิ่งที่คู่ควร
- Toxic Relationship = โรแมนติก ?
- ผู้ชายใช้ความรุนแรง = แมน ๆ สมชายชาตรี ?
- Abuser กลับใจได้ด้วยรัก ? …ฝันไปเถอะ
- ทำแท้ง = หญิงชั่ว

กักขังหน่วงเหนี่ยว = โอกาสบ่มเพาะความรัก
หนังหรือซีรีส์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “การกักขังหน่วงเหนี่ยว” หรือ “การลักพาตัว” หากเป็นของประเทศ มักูกจัดไว้ในหมวดอาชญากรรม หรือระทึกขวัญ แต่สำหรับประเทศไทย เราสามารถเห็นพล็อตเหล่านี้ได้ใน “ละครรัก”เช่นละครยอดนิยมที่ทำคนดูจิกหมอน เรตติ้งพุ่ง ไม่ว่าจะนำมารีเมคกี่รอบ เช่น ละคร “ทางผ่านกามเทพ” ที่รีเมคมาแล้ว 2 รอบ หรือละครตบจูบอมตะนิรันดร์กาลอย่าง“จำเลยรัก” ที่รีเมคมาแล้วในเวอร์ชั่นหนังและละครถึง 7 รอบ ฯลฯ และอีกมากมายหลายเรื่องที่ไม่ได้เอ่ยถึง
ซึ่งมีเรื่องราวคล้ายคลึงกันโดยมีพระเอกจับนางเอกมากักขังไว้ที่ใดสักที่ เพื่อเป็นการแก้แค้นหญิงใจร่าน ในระหว่างนั้นก็มีการผรุสวาทวาจาร้ายๆ แสดงความเกลียดชัง ข่มขู่ใช้ความรุนแรง และมีการล่วงละเมิดทางเพศในที่สุด ซึ่งล้วนเป็นการกระทำของอาชญากรทั้งสิ้น แต่ละครไทยก็สามารถทำให้นางเอกตกหลุมรักพระเอกได้แม้จะเจอความอัปรีย์ของพระเอกมาขนาดนี้
ซึ่งแม้จะกล่าวถึงแค่ “ความสมจริง” ก็แทบเป็นไปไม่ได้หากนางเอกไม่ได้เป็นโรค Stockholm Syndrome ที่มีอาการหลงรักคนร้ายที่จับมาขัง แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือพล็อตแบบนี้ เป็น soft power ที่บ่มเพาะความฉิบหายแบบไม่ soft ในสังคม นั่นคือทัศนคติ ความเชื่อ ว่าการกักขังหน่วงเหนี่ยว ควบคุมผู้หญิงสักคนคือเรื่องที่พึงทำได้ ไปจนถึงความเชื่อว่า “ผู้หญิงอาจชอบความรุนแรงแต่ไม่แสดงออก” ฯลฯ

ข่มขืนไปก่อน เดี๋ยวก็รักกันเอง
แทบทุกเรื่องที่มีการ “กักขังหน่วงเหนี่ยว” ย่อมเกิดการ “ข่มขืน” ด้วยในที่สุด แต่แม้จะไม่กักขัง ก็มีฉากข่มขืนได้ ซึ่งมักมีเหตุมาจากความแค้น ความเข้าใจผิดต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นความเข้าใจผิดว่านางเอกใจร่านไม่ใส ๆ เหมือนอย่างที่พระเอกคิด ก็เลยมาแก้แค้น ด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะถือว่ายังไงเธอก็ใจง่ายอยู่แล้ว เพื่อให้มีเหตุผลซัพพอร์ตความเลวชั่ววูบของพระเอก ที่ปกติเป็นสุภาพบุรุษ แต่พอข่มขืนไปแล้วถึงจะเก็ตว่า “อ้าว เธอบริสุทธิ์” นี่ ไม่ว่าจะรู้ด้วยอะไรก็ตาม แล้วก็เกิดการตามง้อนางเอกที่ต้องเสียซิงเพราะพระเอกข่มขืนย่ำยีใจ ประหนึ่งหล่อนเป็นเพชรในตมที่เพิ่งค้นเจอ
ผลิตซ้ำทัศนคติ “ข่มขืนก่อน เดี๋ยวก็รักกัน” ไม่พอ ยังตอกย้ำว่า “เยื่อพรหมจรรย์” คือศักดิ์ศรีของผู้หญิง และสิ่งที่ทำให้ละครพวกนี้ถือได้ว่ามีส่วนสร้าง “อาชญากรรม” ในสังคมเพิ่ม คือการเสนอท่าทีขัดขืนของผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ซึ่งสุดท้ายก็สามารถหลงรักคนที่ข่มขืนได้ ซึ่งทำให้ผู้ชายหลายคนในสังคมมีทัศนคติว่า “ผู้หญิงขัดขืนเป็นพิธี เพราะจริง ๆ แล้วเดี๋ยวก็ฟินเอง”ซึ่งนอกจากจะก่อความเข้าใจและการตระหนักเรื่อง “Consent” อย่างผิด ๆ แล้ว
คนทำละครเหล่านี้ยังไม่เหลือโอกาสให้ผู้หญิงได้ขัดขืนและปกป้องตัวเองจากการถูกข่มขืน ด้วยการสร้างละครแบบนี้มาผลิตความเข้าใจผิด ๆ ให้อาชญากรในสังคม…คุณควรละอายนะ

ลงโทษหญิงร่านด้วยการข่มขืน > Victim Blaming เหยื่อข่มขืน
นอกจาก “วัฒนธรรมข่มขืน” ในละครไทย จะมีขึ้นเพื่อเป็น “เครื่องมือสานรัก” แล้ว ยังเป็นเครื่องที่ใช้ “ลงโทษ” อีกด้วย และผู้ที่ถูกใช้เครื่องมือนี้ด้วย คือ “ผู้หญิง” ในละคร ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแบบไหน มีบทบาทใดก็ตาม แม้กระทั่ง “นางร้าย” ที่ถูกลงโทษในตอนจบด้วยการถูกข่มขืน และซูมภาพไปที่เนื้อตัวบอบช้ำผมเผ้ายุ่งเหยิงหลังโดนกระทำชำเรา แทนคำสมน้ำหน้า
และเชื่อเถอะว่ามีคนดูมากมายเหลือเกินที่ตบเข่าสะใจที่ได้ดู “ผลแห่งกรรม” นี้ โดยไม่ตระหนักว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนสมควรถูกทำร้ายแบบนี้ทั้งนั้น หรือหากจะทำผิดอะไรก็ไปว่ากันตามกฎหมาย ไม่ใช่ใช้การล่วงละเมิดทางเพศเป็น “ศาลเตี้ย”
ความเข้าใจและทัศนคติแบบนี้ ยังมีส่วนให้เกิดวัฒนธรรม Victim Blaming เหยื่อข่มขืนด้วย โดยพฤติกรรม “โทษเหยื่อ” นี้อาจมาในรูปแบบการโทษว่าผู้หญิงแต่งตัวโป๊เอง ยั่วผู้ชายเอง ทำตัวร้ายๆ เองจึงถูกข่มขืน หรือความคิดว่าผู้หญิงที่ถูกข่มขืนเป็นผู้หญิงสกปรก “มีมลทิน”อย่างในละคร #เมียจำเป็น ที่เพิ่งมีดราม่าไปทั้งที่คนผิดไม่ใช่ “เหยื่อ” แต่อย่างใด แต่ดูเหมือนทุก ๆ ข้อยกเว้นและความถูกต้องล้วนจำกัดสิทธิอยู่ที่ “เพศชาย เสมอ

Slut Shaming นางร้ายคือสิ่งที่คู่ควร
การ Slut Shaming ผู้หญิง เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ดู “ปกติ” ในสังคมไทยมานาน และบางคนอาจถึงกับเชื่อว่าคือ “ความชอบธรรม” ที่ผู้หญิงบางจำพวกควรโดนเสียด้วย เพราะละครไทยปลูกฝัง บ่มเพาะทัศนคติแบบนี้มานาน อย่างแนบเนียน ผ่านการออกแบบตัวละครที่เป็น “ผู้หญิงร้าย ๆ” ในละครให้แต่งตัวเปรี้ยว แต่งหน้าชัด มีสีสันฉูดฉาด ปากแดง มีบุคลิกมั่นใจ กล้าต่อปากต่อคำ มีความคิดเป็นของตัวเอง และกล้าทำตามความต้องการของตัวเอง แล้วให้ตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องด่า ดูแคลนผู้หญิงแบบนี้ และนิยามให้เป็นผู้หญิงร้ายและร่าน
เกิดการบอกย้ำ ซ้ำ ๆ ในละครไทยแทบทุกเรื่อง จนสังคมเรียนรู้ และจดจำว่า “ผู้หญิงแบบนี้” เป็นผู้หญิงร้าย ร่าน สมควรถูกตัดสิน ประณามหยามเหยียด ทั้งที่ลักษณะเหล่านั้นคือผู้หญิงแบบที่คนไทยไม่สอนให้เป็น เพราะขัดกับสังคม “ปิตาธิปไตย” ที่ผู้หญิงต้องรักนวสงวนตัว ไม่พูดมากกว่าผู้ชายเท่านั้น และผู้หญิงที่มีคาแรคเตอร์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำเพื่อใฝ่หาผู้ชายด้วยซ้ำ

Toxic Relationship = โรแมนติก ?
Conflictในละครรักไทย ๆ ไม่มีอะไรมาก ถ้าไม่ใช่เรื่องความแค้น การคลุมถุงชนจนรัก ข่มขืนจนรัก กักขังจนรัก ก็คงเป็นปัญหาใน “ชีวิตคู่” ที่เกิดจากนิสัยแปลก ๆ ไม่สมเหตุสมผลของพระ-นาง เช่น มีอะไรก็ไม่พูดกันตรง ๆ ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่แค่ไหน แล้วก็ปล่อยให้อีกฝ่ายเดาพฤติกรรม เดาว่าอีกฝ่ายจะหนีไปกบดานเลียแผลใจที่ไหน หรือเวลาจะหึงหวงกัน ก็ไม่มีการพูดคุยให้เข้าใจ แต่กลับระบายออกเป็นการใช้ความรุนแรง ฯลฯ
ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะของ Toxic Relationship หรือ “ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ” ที่ทำลายสุขภาพจิตอย่างมหาศาล และเป็นพิษกับชีวิตอย่างมากตามคำนิยาม ฉะนั้นรูปแบบความสัมพันธ์และอาการแบบนี้คงไม่เป็นที่น่าพิศมัยและน่าจิกหมอนแน่นอนหากเกิดกับชีวิตจริง ซึ่งเป็นค่านิยม และทัศนคติผิด ๆ ที่ละครไทยควรหยุดผลิตออกมาได้แล้ว

Abuser กลับใจได้ด้วยรัก ? …ฝันไปเถอะ
ไม่ว่าพระเอกนางเอกจะเคยเกลียดกันแค่ไหน หรือผ่านการใช้ความรุนแรง ทำร้ายกายและใจให้เจ็บช้ำ ด้วยการดูถูกดูแคลน ไปจนถึงผ่านการกดขี่ ข่มขืนมาแล้วก็ตาม แต่นางเอกไทย ๆ ก็ใจดี มีความเป็นแม่พระ ให้อภัยได้ เพราะพระเอกมาตามง้ออยู่นานจนแพ้ใจ อย่างในเรื่อง “สวรรค์เบี่ยง” ที่ทำคนดูอินน้ำตาไหลทั้งประเทศ
ซึ่งในที่สุดนางเอกไทย ๆ เหล่านี้ก็ยอมกลับไปรัก เพราะเชื่ออย่างสุดใจว่าพระเอก Abuser เหล่านี้ทำความชั่วกับเธอไปเพราะมีเหตุผล และความรักก็สามารถทำให้พวกเขากลับใจได้ ซึ่งขัดกับความเป็นจริงอย่างมาก เพราะความจริงแล้วไม่ว่าอะไรก็ตามไม่สามารถแก้นิสัย Abuser ของคน ๆ หนึ่งได้ นอกจากจะพาเขาไปบำบัดรักษาอย่างจริงจังเท่านั้น

ทำแท้ง = หญิงชั่ว
ในละครไทย ผู้หญิงที่ข้องเกี่ยวกับการ “ทำแท้ง” ย่อมถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ใจร่านไม่พอ ยังคิด “ทำบาป” อย่างไม่รู้สึกรู้สา หรือแม้แต่เป็นการ “พลาด” ตั้งครรภ์ในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้วางแผนไว้ หรือเป็นการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน เช่น ในละครเรื่อง “กรงกรรม”ฯลฯ ซึ่งการตั้งครรภ์นั้นเป็นผลจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งด้วยซ้ำ แต่คนทำละครก็ยังกล้าที่จะสอน ว่าการตัดสินใจ “ทำแท้ง” ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ย่อมเป็นความ “ชั่ว”เป็น “บาปที่จะติดตัวไปทุกชาติ”เป็นการอ้างเรื่องบุญบาป อันเป็นเงื่อนไขศีลธรรมความเชื่อ “เฉพาะกลุ่ม” มาอ้างอิงว่าเป็นเกณฑ์คุณธรรมในสังคม และอ้างว่ามีเจตนาสะท้อนสังคม และสอนให้คนในสังคมตระหนักบุญบาปโดยหลายครั้งคนทำละครเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ชายที่ไม่มีมดลูก ไม่สามารถคิดในมุมที่ลองสวมรองเท้าเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่จะต้องเผชิญกับชีวิตหลังการตั้งครรภ์นั้นได้ด้วยซ้ำ
แต่ก็ยังกล้าที่ฉอดสอน…เลิกนะ เรื่องเอา “ศีลธรรม” ของตนเองมาเหนือ “มนุษยธรรม” สากล